6/30/2552

อัญมณี

ประเภทและคุณสมบัติของอัญมณี

ข้อมูลเกี่ยวกับเพชร
กำเนิดเพชร
เพชร (Diamond) เป็นอัญมณีที่ล้ำค่าและเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป ในอดีตผู้ที่จะมีไว้ในครอบครองจะต้องเป็นเศรษฐีหรือเชื้อพระวงศ์ เนื่องจากเป็นของที่หายาก มีความเชื่อแต่อดีตว่าผู้ที่ได้สวมใส่เพชรจะมีอำนาจที่จะป้องกันสิ่งชั่วร้ายได้ คือมักใช้เป็นเครื่องรางมากกว่าเป็นเครื่องประดับ เพราะฉะนั้น ในอดีตจึงเป็นผู้ชายที่สวมใส่เพชรมากกว่าผู้หญิง ตำนานโบราณกล่าวไว้ว่า เพชรมีแหล่งกำเนิดมาจากกระดูกยักษ์ชื่อมหาพลสูตรที่คิดจะทำพิธีอดอาหารเพื่อเป็นเกียรติยศให้ปรากฏในแผ่นดิน พอครบ 7 วัน ก็สิ้นชีวิต เทวดาจึงนำกระดูกไปฝังไว้ทุกแห่ง ก็บังเกิดกลายเป็นเพชรรัตน์ ในทางวิทยาศาสตร์ เพชรเกิดจากธาตุคาร์บอน (C ) เกือบบริสุทธิ์ คือประมาณ 99.95% ที่ถูกทับถมอยู่เป็นเวลานานใต้พื้นโลกด้วยแรงกดกว่า 3,000 ตัน อยู่ลึกประมาณ 80 กิโลเมตร ต่อมาหินคิมเบอร์ไลต์ (Kimberite) ได้ดับเพชรขึ้นมาระดับพื้นผิวโลก นอกจากนี้ยังพบเพชรอยู่ในบริเวณ ลานแร่ (Alluvian) อยู่ประมาณร้อยละ 90 ของเพชรที่พบทั้งหมด
ลักษณะและชนิดของเพชร
เพชรเป็นแร่มีรูปร่างผลึก 8 เหลี่ยม หรือ 12 เหลี่ยม มีความโปร่งใส และกึ่งโปรงใส มีประกายแวววาว รอยตำหนิมีเหลี่ยมมุมถาวร ไม่เปลี่ยนแปลง เพชรมีหลายสี ตั้งแต่ไม่มีสี จนกระทั่งถึงสีดำ ที่เรียกว่า Carbonado สีต่างๆ ที่เกิดขึ้นเกิดจากมลทินในผลึก ส่วนใหญ่จะพบไนโตรเจน ซึ่งจะพบอยู่ถึงร้อยละ 0.2 นอกจากนี้ยังพบซิลิกอน แมกนีเซียม อะลูมิเนียม เหล็ก แคลเซียม และทองแดง ซึ่งมีอยู่ในปริมาณที่น้อยมาก เพชรที่พบอยู่โดยทั่วไปจะมีสี เหลือง หรือน้ำตาลอ่อน เพชรที่ใสไม่มีสี จะมีราคาสูงที่สุดและเป็นที่นิยม แต่เพชรมีสีนั้นค่อนข้างหายาก เช่น สีชมพู หรือสีน้ำเงิน เช่น Hope Diamond เป็นเพชรที่มีสีฟ้า มีชื่อเสียงมาก และชนิดที่หายากที่สุดคือ Red Diamond
เพชรแบ่งออกได้ 4 ชนิด คือ
1. ชนิด la มีไนโตรเจน ประมาณร้อยละ 0.1 ได้แก่ เพชร ที่ขุดตามธรรมชาติ
2. ชนิด lb มีไนโตรเจน ประมาณร้อยละ 0.2 ได้แก่ เพชรสังเคราะห์
3. ชนิด lla ไม่มีไนโตรเจน ชนิดนี้หายากมาก
4. ชนิด llb เป็นเพชรที่มี boron อยู่ในผลึกจะมีสีฟ้า หายากมาก
การเลือกซื้อเพชร
น้ำหนักของเพชรไม่ได้เป็นตัวกำหนดราคาเพียงอย่างเดียว ต้องพิจารณาคุณสมบัติอื่นๆประกอบด้วย โดยอาศัย 4C ดังนี้
1. CARAT (น้ำหนัก) ขนาดของเพชรยิ่งโตราคายิ่งสูงขึ้น น้ำหนักเพชรใช้วัดเป็น CARAT ซึ่ง 1 CARAT เท่ากับ 0.200 กรัม (200 มิลลิกรัม หรือ 1/5 กรัม) 1 กรัมเท่ากับ 5 CARAT
2. COLOR (สี) เกิดขึ้นจากการรวมตัวทางเคมีของธาตุต่างๆ สีของเพชรมีทุกสี แต่ที่มีค่า ได้แก่ สีทึ่ไม่มีสีอื่นเจือปน (Colorless)
3. LARITY (ความบริสุทธิ์) เพชรแท้ธรรมชาติต้องไม่บริสุทธิ์ 100% ถ้าดูด้วยกล้องขยาย 1,000 เท่า จะมองเห็นเส้นเล็กๆ หรือจุดเล็กๆซึ่งแสดงถึงความไม่บริสุทธิ์ของเพชรธรรมชาติ
4. CUTTING (การเจียระไน) การเจียระไนมีความสำคัญต่อเพชรมาก ถ้าฝีมือในการเจียระไนสวยจะทำให้เพชรมีประกายสวยขึ้น
แหล่งกำเนิดเพชร
อินเดีย มีการขุดเพชรมากกว่า 5000 ปีมาแล้ว เป็นประเทศแรกที่พบเพชร เพชรที่อินเดียเป็นเพชรมีคุณภาพสูง เม็ดมีขนาดใหญ่ และมีจำนวนมาก เพชรที่มีชื่อเสียงของโลกกว่าครื่งมาจากประเทศอินเดีย บราซิล เป็นประเทศรองจากอินเดียที่พบเพชร โดยพบในปี พ.ศ. 2288 เพชรที่นี่ไม่สวยเท่ากับอินเดีย เม็ดมีขนาดเล็กเป็นส่วนใหญ่ ใช้ในวงการอุตสาหกรรม ขณะนี้มีปริมาณน้อยแล้ว แอฟริกา เมื่อเพชรที่บราซิลเริ่มน้อยลงก็พบเหมืองใหม่เมื่อ พ.ศ. 2410 ที่แอฟริกาเพชรมีคุณภาพสูง สวยงามและมีเม็ดขนาดใหญ่ ๆ และมีปริมาณมาก รัสเซีย ในปี ค.ศ. 1970 มีการขุดเพชรที่รัสเซีย เพชรที่รัสเซียปริมาณมากกว่าแอฟริกา แต่เนื่องจากความเป็นประเทศในโลกที่สาม จึงไม่เป็นที่สนใจนัก นอกจากนี้ยังพบที่ จีน อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย โคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา เวเนซุเอล่า โบลิเวีย กิอานา และไซบีเรีย ในประเทศไทยพบที่จังหวัดพังงาปนอยู่ในแหล่งแร่ดีบุก เพชรที่พบเหล่านี้มีขนาดเล็กไม่ถึงหนึ่งกะรัต และมีปริมาณไม่มากนัก
อินเดียเป็นชาติแรกที่รู้จักการเจียระไนเพชร แต่ไม่มีชื่อเรื่องความสวยงามเพราะคำนึงถึงปริมาณเนื้อเพชรมากๆ จนกระทั่ง Vineenti Peruzzi ชาวเวนิสเป็นผู้ออกแบบ Brilliant cut นับเป็นครั้งแรกที่ทำให้นักเจียระไนทั่วโลกได้เห็นไฟ และประการแวววาวที่สวยงามของเพชรเป็นครั้งแรก แต่รูปทรงยังไม่ดีนักโดยในเวลาต่อมาก็ได้มีการปรับปรุงต่อเนื่องกันมาเรื่อยๆ
แหล่งเจียระไนที่มีชื่อ ได้แก่ เบลเยียม, ฮอลันดา, นิวยอร์ค, ลอนดอน, อิสราเอล และอินเดีย ในปัจจุบันรูปแบบการเจียระไนที่นิยม คือ การเจียระไนเหลี่ยมเกสร (Round Brilliant Cut) ซึ่งมี 57-58 เหลี่ยม ถ้าเพชรมีคุณสมบัติ 4C อย่างใดอย่างหนึ่ง หมายถึง เพชรที่ไม่มีสี มีรูปร่างในการเจียระไนสวยงาม ไม่มีมลทิน
การตรวจสอบว่าเพชรแท้หรือเพชรเทียม
การตรวจสอบว่าเป็นเพชรเทียมหรือเพชรแท้ ต้องทดสอบหลายวิธีประกอบกัน
1. ดูค่าความถ่วงจำเพาะโดยหย่อนเพชรที่สงสัยในน้ำยามาตรฐาน ที่มีความถ่วงจำเพาะ 3.52 ถ้าเป็นเพชรแท้จะลอยปริ่มระดับเดียวกับน้ำยา เพชรเทียมส่วนมากจะจม แต่วิธีนี้ใช้ไม่ได้กับเพชรเทียมที่เป็นพวกแก้ว Topaz , quartz , Synthetic sapphire และ Synthetic spinel เพราะค่าความถ่วงจำเพาะของสิ่งเหล่านี้ใกล้เคียงเพชร
2. ดูค่าดัชนีหักเหโดยหย่อนเพชรที่สงสัยลงในน้ำยามาตรฐานที่มีค่าดัชนีหักเห 1.743 ถ้าเป็นสารที่มีค่าดัชนีหักเหสูงกว่านี้จะมองเห็นประกายในน้ำยา แต่ถ้าสารนั้นมีดัชนีหักเหต่ำกว่า จะมองไม่เห็นประกาย เพชรเทียมส่วนมากมีค่าดัชนีหักเหสูงกว่านี้ ยกเว้น พวกแก้ว ,Topaz ,quartz , Synthetic sapphire , Synthetic spinel
3. ดูความแข็งเป็นวิธีที่แน่นอน เพราะเพชรแท้ต้องถูกคอรันดัมขีดบนหน้าผลึกแล้วไม่เป็นรอย แต่ถ้าขีดบนเพชรเทียมชนิดอื่น ๆ จะเห็นรอยขีด ซึ่งรอยจะชัดเจนแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความแข็งของเพชรเทียมชนิดนั้น แต่วิธีนี้ไม่นิยมใช้เพราะอาจขีดบนแนวแตกเรียบ ซึ่งอาจทำให้เพชรหักบิ่นและเกิดตำหนิได้
4. ทดสอบการนำความร้อนโดยใช้เครื่องมือตรวจสอบการนำความร้อน ซึ่งใช้แยกเพชรออกจากเพชรเทียม เครื่องมือนี้เรียกว่า เทอร์มอลคอนดัคทิวิตี้โพรบ (Themal conductivity probe ) ซึ่งสะดวกในการพกพา ใช้ได้กับเพชรทุกขนาดและรวดเร็ว
ปัจจุบันผู้ผลิตเพชรเทียมใช้สารเคมีเคลือบผิว เมื่อนำไปทดสอบได้ค่าผิดจากความจริง หรืออาจใช้วิธีทำเทียมแบบประกบ 2 ชั้น คือ เพชรแท้อยู่ด้านบน เพชรเทียมอยู่ด้านล่าง โดยใช้วัตถุใสไม่มีสี หรืออาจจะเป็นชิ้นส่วนของเพชรที่ปะอยู่บริเวณที่เป็น Girdle ของเพชรซึ่งปะติดกันกับชิ้นล่างของเพชรอีกส่วน ซึ่งวิธีปลอมแบบนี้สามารถสังเกตได้ โดยพิจารณาจากรอยต่อและความแตกต่างของเนื้อเพชรดังนั้น การตรวจสอบให้ได้ผลที่แน่นอนต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ และต้องใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ทดสอบคุณสมบัติ

คุณค่าของอัญมณีี

ความงาม
ความงดงาม แห่งอัญมณี ถูกแสดงออกมา อย่างไม่จำกัดรูปแบบ นับตั้งแต่ความแจ่มจรัส พราวแสงของเพชร ไปจนกระทั่ง ความงามจากสีเลื่อมรุ้ง ที่แปรเปลี่ยนไปตามมุมต่างๆ ของไข่มุก แต่ทั้งหมดนี้ สิ่งสำคัญ ที่ทำให้ เรามองเห็น ความงดงามของอัญมณี คือ แสงสว่างแสงสว่างที่ตกกระทบ กับวัตถุ ทำให้เรามองเห็นสีสัน อันร้อนแรง ของทับทิม และลาปิส ลาซูลี ทำให้มองเห็นประกายพราว ของเพชรที่ล้อกับแสงไฟ และทำให้เราเห็นสีเลื่อมรุ้ง อันงดงาม ของโอปอล
แสงสว่าง ที่สะท้อนจากพื้นผิว ของอัญมณีแต่ละชนิด ให้ประกายโดดเด่น ที่แตกต่างกัน และสีสัน ที่ส่องประกายออกมา จากความใสภายใน ก็สามารถสร้างสเน่ห์ ให้อัญมณีหลายต่อหลายชนิด แต่ก็มีอัญมณี บางชนิดที่มีสเน่ห์ดึงดูดใจ มากกว่า เช่น สตาร์ ที่เกิดกับทับทิม ไพลิน หรือไพฑูรย์ ทั้งยังมีควอทซ์บางชนิดที่มีสีสัน ด้านบนเหมือนกับถูกฉาบด้วยโลหะ เช่น อะเวนทูรีน ควอทซ์ และ ซัน สโตน
นอกเหนือจากนี้ เสน่ห์อันซับซ้อนที่ดึงดูดใจ ให้ใครหลายคนหลงใหล ยังเกิดได้ด้วยวิธีการ อันซับซ้อน ของธรรมชาติ เช่น อะเกท และจัสเปอร์ (พลอยสีดำแดง) ที่ฝังตัวเป็นรูปร่างต่างๆ อยู่ตามแหล่ง ของมัน และจะพัฒนาเปลี่ยนแปลง รูปต่าง ตามกาลเวลาที่ผ่านไป จนบางครั้ง เมื่อเราได้เห็น ก็จะรู้สึกว่ามันมีรูปร่าง คล้ายกับแผนที่ หรือสวนสวยๆ อัญมณีส่วนใหญ่แสดงความงดงาม ออกมาเพียงเล็กน้อย ราวกับหญิงสาวขี้อาย แต่การจะทำให้ มันแสดงสีสันสดใสที่แท้จริง เราจำเป็นต้องนำมาเจียระไน และขัดให้เป็นเงาเสียก่อน ดังเช่นความงดงามของเพชร ที่จะงามได้ก็ต่อเมื่อ นำมาเจียระไนอย่างถูกเหลี่ยม และได้ขนาดกับสัดส่วนที่เหมาะสมเมื่อเราสวมใส่ เครื่องประดับอัญมณี การเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่องของเราก็คือ การทำให้แสงสว่าง ตกกระทบกับมุมต่างๆ ของอัญมณี ที่เราสวมใส่ ทำให้มันแปล่ง ประกายเจิดจรัส จำไว้อย่างหนึ่งว่า ถ้าคุณสวมใส่เครื่องประดับ ที่ทำด้วยเพชร ทับทิม หรือมรกต "สปอทไลท์" จะทำให้อัญมณี ของคุณมีชีวิตชีวา แต่ถ้าเครื่องประดับของคุณเป็นอำพัน หรือ ไข่มุก แสงที่นุ่มนวลจะเหมาะสมกว่า

ความหายาก
ถ้าความงดงาม คือ สิ่งที่สร้างการเริ่มต้น ประชันกันในหมู่อัญมณีแล้ว ความหายาก ก็คือสิ่งที่ช่วยเพิ่มความพิเศษ ให้อัญมณี ยิ่งเป็นที่ปรารถนาของใครๆ ความหายาก คือ ตัวตัดสินค่า (ที่บางครั้งสูงจนแทบไม่น่าเชื่อ) และมีอิทธิพล โดยตรงต่อราคา ของอัญมณีตามตู้โชว์ ในร้ายขายเครื่องประดับ
อัญมณีบางครั้ง อาจหายากด้วยรายละเอียด และเหตุผลต่างๆ อัญมณีทั่วๆ ไปอาจหายาก เพราะแหล่งที่อยู่ หรืออาจหายาก เพราะคุณภาพของตัวอัญมณีเอง ที่แตกต่างออกไป บางคนอาจเคยสงสัย ว่าทำไมอัญมณีไร้สีสัน อย่างเพชรถึงได้แพงนัก แต่คุณทราบไหม ว่าจะต้องสกัดหินถึง 100 ตันกว่าจะได้มาซึ่งเพชรเพียง 5 กรัม ส่วนมรกตเขียวๆ ที่มีรอยร้าวอยู่ในนั้น ที่ราคาแพงก็เนื่องมาจากว่า มันมีแร่ธาตุทางเคมี ที่หายากปะปนอยู่ และแร่ธาตุในมรกต ก็คือ แร่แบเริลเลี่ยม นั่นเองในทางการค้านั้น นอกจากจะขึ้นอยู่กับความหายากแล้ว ราคาของอัญมณี จะขึ้นอยู่กับคุณภาพของสี ตำหนิภายใน และน้ำหนัก และหน่วยวัดน้ำหนัก ของอัญมณี ก็คือ กะรัต (5 กะรัต = 1 กรัม) ซึ่งการซื้อขายอัญมณีนั้น ส่วนมากมักจะชั่งน้ำหนักรวมทั้งเม็ด มากกว่าที่จะแบ่งขายเป็นกะรัต และความหนาแน่น ของอัญมณีแต่ละชนิดก็แตกต่างกัน

ความคงทน
อัญมณีที่มีความทนทาน ตลอดกาลเวลา เพราะอัญมณีสามารถป้องกัน การเปลี่ยนแปลงของสารเคมี มีความทนทาน เพียงพอที่จะรักษาความมันวาว เอาไว้ อีกทั้งยังไม่เปราะหรือแตกหักได้ง่ายๆ
"ความแข็ง" ของอัญมณี เป็นตัวกำหนดความทนทาน ต่อการขีดข่วนเป็นรอย วิธีการที่ง่ายที่สุด ที่เราจะตรวจสอบดูว่า อัญมณีชนิดใด มีความทนทานต่อการขีดข่วน เป็นรอยมากน้อยแค่ไหนก็คือ การใช้ "โมหส์ สเกล" ซึ่งถูกคิดค้นขึ้นมาใน ค.ศ 1822 โดยนักแร่วิทยา ชาวเยอรมัน ที่ชื่อว่า เฟรดดริช โมหส์ และวิธีการของเขาก็คือ เลือกแร่ธาตุ ที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมา 10 ชนิด และตั้งตัวเลข ให้กับแร่แต่ละชนิด โดยเรียงจากความแข็ง โดยหมายเลข 1 ใช้แทนแร่ตัวหนึ่ง ที่มีความแข็งน้อยที่สุด ซึ่งสเกลของโมหส์ จะเรียงลำดับความแข็งของแร่ธาตุจากน้อยไปหามาก ดังนี้ ทาลค์ (1) ยิปซั่ม (2) แคลไซท์ (3) ฟลูออไรท์ (4) อะปาไทท์ (5) ออโธเคลส (6) ควอทซ์ (7) โทปาซ (8) คอรันคัม (9) เพชร (10)

สี

สีสันต่างๆ ของอัญมณี หลากชนิดเกิดขึ้นได้ เพราะมีแสงสีขาว ส่องทะลุผ่านเนื้ออัญมณีแล้ว แร่ธาตุต่างๆ ที่อยู่ในเนื้อของอัญมณี จะดูดกลืนแสงไว้ส่วนหนึ่ง และปล่อยให้แสงผ่านออกมา ส่วนหนึ่ง ซึ่งทำให้เรามอง
เห็นสีของอัญมณี แสงสีขาวที่กำลังพูดถึงอยู่นี้ ประกอบด้วย แสงสี หลายสีมารวมกัน หรือที่เรียกกันว่า สเปคตรัม แต่เรื่องการดูดกลืนแสงสีของวัตถุนั้น นับว่าเป็น เรื่องที่ซับซ้อน โดยทั่วไปจะเกี่ยวข้อง และขึ้นอยู่กับสารเคมี ตำหนิรอยร้าว และการเรียงตัว ของผลึก ซึ่งทั้งหมดนี้ มีผลต่อการแสดงสีทั้งสิ้นอัญมณีส่วนใหญ่ มีสีได้เพราะปริมาณของแร่ธาตุ และแร่ธาตุที่สำคัญ ที่ส่งผลให้อัญมณีมีสี ได้แก่ โครเมียม เหล็ก แมกกานีส ไททาเนียม และคอปเปอร์
โครเมี่ยม ทำให้ทับทิม มีสีแดงเข้ม และทำให้มรกต กับดีมานทอยด์ การ์เนท มีสีเขียวสุกใส ขณะที่เหล็ก ให้สีแดง น้ำเงิน เขียว และเหลืองในดีมานทอยด์ การ์เนท สปิเนล ไพลิน เพอริโด และคริโซแบเริล ส่วนไพลินสีน้ำเงินกำมะหยี่ ที่มีราคาสูงนั้น สีของมันได้มาจากไททาเนียม กับเหล็ก ส่วนคอปเปอร์ ให้สีฟ้า และเขียว ในเทอร์ควอยซ์ และมาลาไค์ แมงกานิส ก็ให้สีชมพูในโรโดไนท์ และสีส้มในสเปซซาร์ ไทน์ การ์เนท
แม้ว่าแร่ธาตุต่างๆ จะทำให้อัญมณีมีสีสัน ที่แตกต่างกันออกไป แต่แร่ธาตุบางชนิด ในอัญมณี ก็อาจเปลี่ยนสีได้ เมื่อถูกความร้อน ถูกรังสีแกมมา และรังสีเอกซ์ ดังนั้นในวิธีการดูแลรักษาอัญมณี ข้อหนึ่งก็คือ ต้องระวังไม่ให้อัญมณีของคุณ โดนความร้อน หรือรังสีใดๆ นั่นเอง

การตรวจแร่รัตนชาติี

การซื้อขายรัตนชาติเป็นงานที่ยากยิ่งอย่างหนึ่ง เพราะการบอกชนิด การวัดคุณภาพซึ่งใช้สี ความใส และมลทินเป็นหลัก เพื่อตีราคานั้น ไม่มีเครื่องมืออะไรที่จะใช้วัดคุณภาพได้ สีที่เห็นเป็นสัมผัสของตา ตาส่งสัมผัสไปสู่สมอง สมองจะเปรียบเทียบสีที่เห็นนั้น กับสีที่ บันทึกไว้ในสมอง และตัดสินออกมาในที่สุด ผู้ที่มีความสามารถในการกำหนดและตีราคานั้น จะต้องเป็นคนที่มีสายตา และสมองที่มี ความสามารถใน การบอกความแตกต่างที่ละเอียดอ่อนได้ดีเป็นพิเศษ ซึ่งแต่ละคนมีความสามารถแตกต่างกันไป โดยต้องอาศัยพื้นฐาน ความรู้ทางแร่วิทยา คุณสมบัติทางกายภาพ คุณสมบัติทางแสง และความคุ้นเคยกับประสบการณ์เป็นตัวช่วย แน่นอนที่สุดการตรวจ รัตนชาตินั้น จะต้องใช้ ประสาทสัมผัสทั้งห้า มีความละเอียดรอบคอบ ช่างสังเกต มีนัยน์ตาที่แหลมคม และมีใจรัก ปัจจุบันเทคโนโลยี และเครื่องมือมีมากมาย ดังนั้นการใช้เครื่องมือ (gem instrument) จึงเป็นสิ่งที่จะช่วยให้การตรวจ ถูกต้องแม่นยำขึ้น นอกจากนี้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี มีมากขึ้น ก็มีการผลิตรัตนชาติสังเคราะห์ (Synthetic Gem) รัตนชาติเลียนแบบ (Imitation and Simulate) เข้ามาใช้ในวงการ รัตนชาติมากมาย จึงทำให้การตรวจรัตนชาติยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น ดังนั้นผู้ตรวจจะมีประสิทธิภาพ ในการตรวจได้ดีต้องมีความชำนาญ ประสบการณ์ผ่านพบรัตนชาติจำนวนมากๆ ทำให้เกิดความคุ้นเคย มีผลให้การตรวจแม่นยำขึ้น
ขั้นตอนการตรวจรัตนชาติ (Procedure in Gem Identification)
ขั้นตอนการตรวจรัตนชาติเป็นขบวนการกำหนด สืบทราบชนิดของรัตนชาติโดยทำการตรวจสอบคุณสมบัติต่างๆ ที่ได้จากการตรวจ สอบ คุณสมบัติต่างๆ อย่างเป็นขั้นตอน แล้วประเมินข้อมูลต่างๆ ที่ได้จากการตรวจสอบ และสรุปว่าควรจะเป็นรัตนชาติชนิดใด โดย กำหนดออก มาเป็น Species และ Varieties ของรัตนชาติที่ทำการตรวจสอบ ซึ่งขบวนการนี้คล้ายคลึงกับการขจัดความสงสัย ของนักสืบ โดยการ ประมวลจากข้อมูลที่สอบสวนมาได้เช่นกัน
ขั้นตอนการตรวจมี 4 ขั้นตอน คือ
-การตรวจโดยอาศัยตาเปล่า (Unaided Eye)
-การตรวจรายละเอียดภายใน โดยอาศัยแว่นขยาย 10X หรือกล้องจุลทรรศน์ (Binocular Microscope)
-การตรวจค่าดัชนีหักเห (Refractive Index) ซึ่งสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อรัตนชาตินั้นมีหน้าขัดมันที่เรียบพอที่จะใช้กับ เครื่องมือวัดดัชนีหักเห (Refractometer) ได้
-การตรวจโดยใช้เครื่องมือทางรัตนชาติอื่นๆ เช่นโพราไลสโคป (Polariscope) ไดโครสโคป (Dichroscope) สเปกโตรสโคป (Spectoscope) เป็นต้น
เมื่อตรวจสอบตัวอย่างตามขบวนการที่กล่าวมาแล้วก็จะสามารถสรุปผลออกมาได้ว่ารัตนชาติที่ทำการตรวจสอบนั้นอยู่ใน Species หรือ Varieties ใดโดยพยายามรวบรวมข้อมูลจากการทดสอบทั้งหมด และพิจารณาว่ารัตนชาตินั้นมีคุณสมบัติต่างๆ ตรงกับ Species และ Varieties ของรัตนชาติใด และจะต้องพยายามใช้ Key Separationg เป็นตัวช่วยตัดสินในกรณีที่คุณสมบัติ ที่ตรวจสอบได้นั้นเข้ากัน ได้กับรัตนชาติถึง 2 Species ตัวอย่างเช่น ทับทิมธรรมชาติและทับทิมสังเคราะห์มีค่าดัชนีหักเห และค่าความถ่วงจำเพาะเท่ากัน ลักษณะ จาก Polariscope เหมือนกัน ดังนั้นกุญแจสำคัญที่ใช้แยก (Key Separation) คือการ ตรวจภายใต้กล้องจุลทรรศน์และการเรืองแสง ขั้นตอนการตรวจสอบสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม โดยไม่จำเป็นต้อง เรียงลำดับขั้นตอนการตรวจตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เสมอไป

การเลือกซื้ออัญมณ

เพชร

เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปในทุกวันนี้ว่า นอกจากความหายากแล้ว เพชรจัดเป็น รัตนชาติที่มีคุณค่า และราคาสูง เพราะเพชรมีคุณสมบัติดีเด่นหลายประการ เป็นต้นว่า มีความแข็งมากที่สุด มีค่าดัชนีหักเหแสงสูง และมีค่าการกระจายแสงสีสูงอีกด้วย จึงทำให้เพชรที่เจียระไนสวยงามได้สัดส่วนมีประกายวาวเป็นพิเศษ มีการกระจายแสงสี หรือมีไฟสวยงาม เพชรที่มีคุณสมบัติเป็นรัตนชาติ มักจะเกิดเป็นผลึกที่มีความโปร่งใส มีหน้าผลึกครบสมบูรณ์ ผลึกของเพชรจะเกิดจากธาตุคาร์บอนเพียงอย่างเดียว และอาจเกิดได้ในหลายรูปร่างลักษณะ รูปแบบผลึกเพชรที่พบมากที่สุด จะเป็นรูปปิรามิด ฐานสี่เหลี่ยมประกบติดกัน มีแปดหน้า ผลึกรูปแบบอื่นๆ ที่พบ ได้แก่ รูปคล้ายสี่เหลี่ยมลูกเต๋า และรูปกลมคล้ายตะกร้อ และที่หน้าผลึกเพชร โดยเฉพาะหน้าที่เป็นรูปสามเหลี่ยม ของแบบ ปิรามิดแปดหน้า มักจะพบลักษณะคล้ายรูปสามเหลี่ยมเล็กๆ เป็นร่องลึก ซ้อนกัน เข้าไปในเนื้อเพชรเล็กน้อย วางตัวในทิศทางกลับ กับสามเหลี่ยม ของหน้าผลึก เรียกว่า ไตรกอน (trigon)ซึ่งเป็นลักษณะที่พบได้ในเพชรแท้เท่านั้น เพชรสามารถเกิดขึ้นได้มากมายหลายสี แต่ชนิดที่เป็นที่รู้จักคุ้นเคยมากจะเป็นชนิดสีขาว หรือสีใสไม่มีสี และมักมีสีอื่นปนเล็กน้อย เช่น เหลือง น้ำตาล หรือเทา เพชรที่มีสีเข้มสวยเรียกว่าเพชรสี ซึ่งกำลังเป็นที่นิยม แต่ว่ามีราคาสูง และหายากมาก เพชรสีได้แก่ เพชรสีชมพูอมแดง เขียว ส้ม เหลืองทอง ฟ้า ม่วง เป็นต้น

การพิจารณาเลือกซื้อเพชร มีหลักเกณฑ์ 4 ประการ
1.มีมลทิน หรือ ตำหนิ เพชรที่ดีจะต้องสดใสไร้มลทิน หรือไร้ตำหนิใดๆ ทั้งสิ้น จัดเป็นเพชรน้ำหนึ่ง แต่ถ้ามีตำหนิที่ผิวเล็กน้อย ซึ่งดูแล้วเห็นว่า จะเจียระไนออกใหม่ได้จัดเป็นระดับ ถ้าไม่ดีมีมลทิน หรือตำหนิเด่นชัดเห็นได้ง่ายด้วยตาเปล่า และมีกระทบต่อความคงทน และความสวยงามพชรที่มีรอยแตกเล็กๆ เหมือนเส้นผม กระจายอยู่ทั่วไป จัดเป็นเพชรที่ไม่สมบูรณ์ ถึงแม้ จะมองไม่เห็น ด้วยตาเปล่า ราคาจะถูกลงมาก ส่วนเพชรที่ขุ่นมัว ไม่สุกใส ไม่มีประกาย ก็จัดเป็นเพชรที่มีคุณภาพต่ำ ด้วยราคาของเพชร จะลดหลั่นลงตามคุณภาพ ของมลทิน อย่างไม่สม่ำเสมอ
2.สี ตามสากลนิยม เพชรที่ไร้สี ไม่มีสี (colorless) บริสุทธิ์ ืือเพชรที่จัดว่ามีคุณภาพดีที่สุดแต่ความสามารถในการดูสี ความแหลมคมของสายตา และประสาทที่สัมผัสสีของแต่ละคน จะแตกต่างกัน สีของเพชรมีความสำคัญในการประเมิน คุณค่ารองลงมาจากมลทิน เนื่องจากเพชรที่ไร้ส ีกับเพชรที่มีสีปนเล็กน้อย จะแยกออกจากกันได้ด้วยตาเปล่าได้ยากมาก จะต้องมีมาตรฐานสีมาเปรียบเทียบ จึงจะมองเห็นความแตกต่างได้ เพชรที่ไร้สีบริสุทธิ์ แต่มีมลทินที่เห็นได้ชัดจะมีราคาถูกกว่าเพชรที่ไม่ไร้สีทีเดียว หรือน้ำไม่ขาวสนิทแต่สดใสไร้มลทิน
3.การเจียระไน มีความสำคัญมาก เพราะถ้าเจียระไนดีจะนำเอาความสวยงามของเพชรออกมาให้เห็นเด่นชัด คนทั่วไปมักจะมองข้ามการเจียระไน แต่มุ่งความสนใจไปที่มลทิน และสี ความสวยงามของเพชรจะสมบูรณ์ต่อเมื่อเพชรนั้นมีการกระจายแสงที่ดี หรือที่เรียกว่า มีไฟดี มีความสุกใสสดใส มีประกายแวววับเข้าสู่ตา คุณสมบัติเหล่านี้จะพร้อมมูลต่อเมื่อเพชรนั้นมีการเจียระไนได้ถูกต้อง ได้สัดส่วน มีฝีมือประณีตเรียบร้อย ปัจจุบันเพชรจะมีการเจียระไน 58 เหลี่ยม ที่เรียกว่าเหลี่ยมเกสร หรือเรียกว่า brilliant cut ส่วนเหลี่ยมกุหลาบ หรือเรียกว่า single cut จะเจียระไน 36 เหลี่ยม แต่ไม่ค่อยมีไฟ และความสุกใสประกายวาวเท่าที่ควร ปัจจุบันมีการเจียระไนที่เรียกว่า russian cut ซึ่งก็คือเพชร ที่เจียระไน 58 เหลี่ยมนั้นเอง แต่สัดส่วนของการเจียระไนได้สัดส่วน มีขนาดโต๊ะ ขนาดบ่า ขนาดความลึกของก้น ตามสัดส่วนที่ได้วางมาตรฐานไว้ว่าจะให้ไฟ ความสุกใสประกายสวยงามที่สุด รวมทั้งความปราณีตของแต่ละหน้าแต่ละเหลี่ยมคมชัดสวยงาม เพชรที่เจียระไนแบบนี้จะมีราคาค่อนข้างแพง
4.น้ำหนัก เพชรจะมีราคาแพงตามขนาดและจะมีค่าสูงตั้งแต่ 1 กะรัตขึ้นไปและค่าจะสูงมากขึ้นตั้งแต่ 5 กะรัตขึ้นไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตัวประกอบ สี มลทิน การเจียระไนด้วย

ทับทิม
เป็นแร่คอรันดัมชนิดหนึ่ง ที่มีสีแดง และมีคุณค่ามีราคาสูง คอรันดัม ประกอบขึ้นด้วยธาตุอะลูมิเนียม และออกซิเจน ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในหินหลายชนิด หลายบริเวณทั่วโลก แต่สำหรับผลึกแร่ทับทิมชนิดที่มีความโปร่งใส สีสวยงาม ที่ให้ระดับคุณภาพรัตนชาติ จะหาได้ยากมาก ดังนั้นทับทิมสีสวย คุณภาพชั้นหนึ่ง ก็จะมีราคาสูง ทับทิมจะพบอยู่ในแหล่งสะสมตัว แบบทุติยภูมิ มากกว่าในแหล่ง แบบปฐมภูมิ เนื่องจากหินต้นกำเนิดผุพังสึกกร่อน และผลึกทับทิม ถูกพัดพามาสะสมตัว ในชั้นกะสะ ชั้นกรวดทรายต่างๆ และส่วนมากจะยังคงรูปร่าง ลักษณะของรูปผลึกเดิม อยู่เนื่องจากมีความแข็งสูง (รองจากเพชร) และมีความต้านทาน คงทนต่อปฏิกิริยา ทางเคมีต่างๆ ได้ดี หรืออาจจะพบได้ในลักษณะของกรวดกลมมนก็ได้ ผลึกทับทิม ที่พบในธรรมชาติ มักจะมีผิวด้าน มีความวาวมันเล็กน้อย แต่หลังจากทำการเจียระไน ขัดมันแล้ว จะมีสี และความแวววาวสวยงาม ไม่เป็นรองเพชรเลย

การพิจารณาเลือกซื้อทับทิม
1.สี เป็นหลักสำคัญ เนื่องจากบุคคลแต่ละคน มีความนิยมชมชอบสีแตกต่างกันไป บ้างชอบสีเข้ม บ้างชอบสีอ่อน บ้างชอบสีสด บ้างชอบสีขรีม บ้างชอบสีหวาน เปรียบเหมือนกับ การเลือกซื้อผ้าตัดเสื้อนั้นแหละ ขึ้นอยู่กับรสนิยมของแต่ละคน แต่สีของทับทิม ที่จัดว่ามีราคาคุณค่าสูง ก็คือ สีแดงบริสุทธิ์ หรืออาจจะเป็นสีแดงที่มีม่วงปนน้อยมาก และจะต้องเป็นสีแดง ที่มีความเข้มสูงคือ แดงโชติช่วง ต้องไม่เป็นสีแดงคล้ำมองดูดำ ถ้าแดงมีส้มปน ราคาจะตกลง และราคาจะตกลงไปอีก ถ้ามีสีม่วงปนมาก ทับทิมสีที่ราคา ถูกที่สุด คือแดงอมน้ำตาล หรือแดงดำคล้ำ โทนสีของทับทิมที่ดี คือสว่างปานกลาง หรือมืดปานกลาง ไม่ดำมืด หรือสว่างจนเกินไป และมีเข้มของสีแดงสูง ราคาจะลดลง ถ้าสีในทับทิมไม่สม่ำเสมอ
2.,มลทิน ตำหนิ จะหาทับทิมที่ใสไร้มลทินเลย ย่อมยาก ส่วนใหญ่แล้วจะมีรอยแตก ร่องรอยขุ่นมัว พร่า ฝ้า และมลทินแร่ชนิดอื่นๆ หรือมลทินของไหลพบอยู่เสมอและอาจจะมองเห็นได้ ด้วยตาเปล่า ถึงแม้ทับทิมที่มองดูใสไร้มลทินด้วยตาเปล่าเมื่อใช้แว่นขยาย 10 เท่าส่องดู ก็จะมองเห็น มลทินเสมอ ทับทิมที่มีมลทินเล็กน้อย แต่สีสวยมาก จะมีราคามากกว่า ทับทิมที่ค่อนข้างใส แต่ไม่สวย
3.การเจียระไน มีความสำคัญต่อความสวยงามมาก หากเจียระไนโดยมีส่วนก้นพลอยลึกเกินไป จะทำให้ทับทิมดูมืดทึบ หากก้นพลอยตื้นเกินไป จะทำให้แสงรั่วออก หรือส่องผ่านก้นพลอยขึ้นมา ทำให้ไม่มีน้ำ ไฟ ประกาย การเจียระไนที่ไม่ดี มีผลต่อสี ความแวววาว และราคาอีกด้วย นอกจากนี้ ให้ดูฝีมือการเจียระไนด้วยว่า เรียบร้อยขนาดไหน เหลี่ยมคมชัดหรือไม่ นอกจากนี้ การเจียระไนทับทิม ให้มีสัดส่วนถูกต้อง ยังไม่เพียงพอ ที่จะดึงเอาความสวยงามออกมาให้เห็นเด่นชัดจุดใหญ่ที่จะต้องระวังก็คือ ให้มีการวางตัวของโต๊ะหน้าของพลอยให้ถูกต้อง ซึ่งจะทำให้ได้พลอยสีสวยที่สุด ในทับทิมนั้น มีการหักเหของแสง สองทิศทาง ให้สีต่างกันคือ แดง - ม่วง และ แดง - ส้ม เนื่องจากสีแดง มีม่วงปน เล็กน้อยคือ สีที่ดีที่ต้องการที่สุด ดังนั้น จะต้องเจียระไน ให้ทางด้านหน้า ของทับทิมให้สี แดง - ม่วง ปรากฏ ส่วนสีแดง - ส้มจะปรากฏในทิศทางด้านข้างซึ่งมองไม่เห็น ถ้าทับทิมสีสวย มลทินน้อย ขนาดใหญ่ แต่การเจียระไนไม่ดีก็ควรจะยอมเสียน้ำหนักเจียระไนใหม่ เพราะถึงจะได้ทับทิมเม็ดขนาดเล็กลง แต่ก็จะได้ราคาดีกว่าเม็ดใหญ่ซึ่งไม่สวย จำไว้ว่าความงดงามของทับทิมจะไม่ปรากฏให้เห็นหาก ไม่มีการเจียระไนที่ดี

ไข่มุก
ไข่มุกเกิดจากหอยมุกโดยตัวหอยจะสร้างวัสดุที่มีส่วนประกอบเป็นแร่แคลเซียมคาร์บอเนต ซึ่งมีลักษณะเป็นชั้นๆ เรียกว่า เนเคอร์ (Nacre) และมีความวาวเหมือนมุก เกิดหุ้มล้อมรอบวัตถุใดๆ เช่น กรวดทราย เศษหิน ฯลฯ ที่พัดหลง หรือถูกใส่เข้าไปในหอยแล้วทำให้เกิดความระคายเคือง ชั้นของเนเคอร์จะค่อยๆ สะสมตัวมากขึ้น จนเป็นไข่มุก ยิ่งชั้นเนเคอร์มีความหนามากขึ้นเท่าใด คุณภาพของไข่มุกจะดีมากขึ้นเท่านั้น ไข่มุกมี 3 ประเภทคือ ไข่มุกธรรมชาติ (Natural pearl) ไข่มุกเลี้ยง (Cultured pearl) และไข่มุกเทียม (pearl imitation) ไข่มุกธรรมชาติ และไข่มุกเลี้ยง จัดเป็นไข่มุกแท้ด้วยกันทั้งคู่ ต่างกันที่เกิดมาตามธรรมชาติ หรือเกิดโดยคนช่วยให้เกิด มีคุณสมบัติต่างกันเล็กน้อย เช่น ไข่มุกเลี้ยงมีความถ่วงจำเพาะ มากกว่าไข่มุกธรรมชาติเล็กน้อย ไข่มุกมีได้หลายสี โดยทั่วไปจัดแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ ขาว ดำ และสีแฟนซีต่างๆ เช่น แดง เหลือง ชมพู ม่วง ฟ้า เขียว เป็นต้น ไข่มุกธรรมชาติ และไข่มุกเลี้ยงที่มีคุณภาพดี จะมีสีเรียบ บริสุทธิ์ ขาวดั่งเงินยวง (silverly white) ชนิดสีขาวที่มีประกายเหลือบชมพู และชนิดสีดำที่มีประกายเหลือบสีเขียว เป็นที่นิยม และมีราคาแพง นอกจากนี้ยังต้องมีความวาวสูง มีความโปร่งแสงแบบกึ่งโปร่งแสง เนื้อมุกไม่มีตำหนิ มีรูปร่างกลม (นิยมมาก) มีขนาดโตพอสมควร (ขนาดโตหายาก ราคาแพง) และจะต้องมีชั้นเนเคอร์ (nacre) หนา
การพิจารณาเลือกซื้อไข่มุก
1. สี สีควรสะอาด เรียบเสมอ ไม่สกปรก มอซอ2. ประกายความวาว มีความวาวแบบมุก (pearly luster) สม่ำเสมอทั้งเม็ด3. ความโปร่ง กึ่งโปร่งแสงดีที่สุด ใสมากไปไม่ดี4. เนื้อมีตำหนิน้อยที่สุด เช่น รอยขูดขีด รอยแตกร้าว มีผิวเรียบเนียนเสมอตลอดทั้งเม็ด5. รูปร่าง ทรงกลมเป็นที่นิยมมาก รองลงมาเป็นรูปไข่ และหยดน้ำตา (อาจจะหายาก และแพงกว่าทรงกลม)6. ขนาด ขนาดใหญ่ราคาสูง ควรเลือกที่มีขนาดพอดี ที่สามารถเลือกได้หลายเม็ด ที่มีขนาดเท่าๆ กัน สำหรับจัดเข้าเป็นชุดทำต่างหู หรือสร้อยได้ สำหรับสร้อยมุกควรจะมีรูปทรง สี และขนาดที่เหมาะสมกลมกลืนเข้ากันได้ดี เช่น มีสีครีมประกายเหลือบชมพูเหมือนกัน รูปทรงกลมขนาดเท่ากันทุกเม็ด เป็นต้น รูที่เจาะสำหรับเชื่อมต่อกันด้วยเส้นใยต่างๆ ควรจะมีขนาดเล็กเรียบเสมอกันตลอดทุกเม็ดเช่นกัน7. ราคา ราคาไข่มุกขึ้นอยู่กับ ขนาด รูปร่าง สี ความเหมาะสมพอดีที่จะจัดเข้าคู่กัน อาจจะซื้อขายเป็นน้ำหนัก หรือขนาดก็ได้

การดูแลรักษา
เนื่องจากไข่มุกเป็นสารอินทรีย์ที่เกิดจากสิ่งมีชีวิต ดังนั้นจึงควรนำไข่มุกให้ห่างไกลจาก สารเคมี กรด เครื่องสำอางค์ต่างๆ น้ำหอม เพราะจะทำให้สี และประกายหมอง ลดความสวยงามลงไปได้ นอกจากนี้ควรจะแยกเก็บไข่มุกไว้ต่างหาก จากเครื่องประดับรัตนชาติชนิดอื่น เพราะไข่มุกมีความแข็งไม่มาก อาจจะทำให้เกิดรอยขูดข่วน แตกร้าวได้ ควรเช็ดไข่มุกด้วยผ้าอ่อนนุ่ม หรือผ้าชุบน้ำมัน เพื่อเพิ่มความสวยงาม และอย่าวางไข่มุกใกล้บริเวณที่มีอุณหภูมิ หรือความร้อนสูงอาจจะทำให้สีเปลี่ยน หมองลง หรือแตกร้าวได้

บุษราคัม
เป็นพลอยแซปไฟร์ที่เป็นที่นิยมเช่นกัน หากสีสวย มีประกายแวววาวดี ใสสะอาดไร้มลทิน (โดยปกติบุษราคัม จัดเป็นแซปไฟร์ ที่มีมลทินน้อยที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับไพลิน และทับทิม) ก็จะมีราคาสูงเท่าๆ กับไพลิน หรืออาจสูงกว่า เสียอีก เนื่องจากค่อนข้างจะหาสวยได้ยากกว่าไพลิน สีที่สวยของบุษราคัม คือ สีเหลืองสดใส ไม่มีสีน้ำตาล ส้ม เขียวปน มีโทนสีมืด - สว่างปานกลาง ความเข้ม ของสีเหลืองไม่อ่อนมาก ส่วนใหญ่พลอยบุษราคัมจากจันทบุรี มักจะมีสีน้ำตาลปน ทำให้ได้พลอยสีเหลือง เหล้าแม่โขง ซึ่งเป็นสีที่นิยมในหมู่คนไทย จึงทำให้ มีราคาแพง สำหรับพลอยบุษราคัมสีเหลืองอมส้ม มักจะพลอยจากศรีลังกา โดยได้จาก การนำพลอยก้อนสีขาวขุ่นมีจุดเหลืองมาเผา จนได้พลอยใสสีเหลืองอมส้ม บางที ก็อมน้ำตาล บางทีก็ได้สีเหลืองทอง ซึ่งราคาแพงเหมือนกัน นอกจากนี้ ยังมีพลอยบุษราคัมศรีลังกา ส่วนที่เผาไม่ออก คือไม่ได้สีเหลืองสวย แต่ได้เป็นสีขาวใส หรือขาวมีเหลืองปนนิดหน่อย ซึ่งมีการนำเอาพลอยส่วนนี้ ไปอาบรังสี เพื่อให้มีสีเข้มขึ้น แต่สีเหล่านี้จะไม่คงทนถาวรวิธีแยกระหว่างพลอยซีลอนเผาออกได้สีเหลืองสวยงาม กับพลอยซีลอนอาบรังสี ทำได้โดยใช้ไฟ 100 วัตต์ ส่องที่พลอย ระยะห่าง ประมาณ 1 นิ้ว เวลาประมาณ 15 นาที ถ้าเป็นพลอยซีลอนเผา สีของพลอยจะเข้มขึ้น เป็นสีน้ำตาลเข้ม และจะกลับเป็นสีเดิม เมื่อปล่อย ให้เย็นลง ส่วนพลอยบุษราคัมสีเหลืองอาบรังสี สีจะจางลงจนซีด แต่ถ้าเป็นพลอยบุษราคัมเผา / ไม่เผา ของจันทบุรี และออสเตรเลีย จะไม่มีผลกระทบเลย
นอกจากนี้ ให้ระวังพลอยสังเคราะห์ เพราะจัดว่าตรวจดูยาก เนื่องจากพลอยบุษราคัมแท้ ก็จะไม่ค่อยมีมลทิน เด่นชัด แต่ก็สามารถพลิกค้นหา มลทินได้ ส่วนพลอยบุษราคัมสังเคราะห์ ก็จะใส ไร้มลทิน จะมองเห็นเส้นโค้งซึ่งหายาก อยู่ในเนื้อพลอย แต่เหลี่ยมพลอยจะไม่คมชัด เหมือนของแท้ ดังนั้น ถ้าไม่แน่ใจ ส่งให้ผู้ชำนาญตรวจดูก่อน ราคาของพลอยบุษราคัม ถ้าเป็นพลอยจากจันทบุรีสีสวย ราคาก็จะแพงกว่าพลอยบุษราคัมซีลอนเท่าตัว

ไพลิน
ไพลิน คอรันคัมทุกสี ยกเว้นสีแดง จะเรียกว่าแซปไฟร์ สีต่างๆ ของแซปไฟร์ สามารถ นำมาใช้เรียกเป็นชื่อชนิดอื่นได้ เช่น แซปไฟร์สีเหลือง (บุษราคัม) แซปไฟร์สีเขียว (เขียวส่อง เขียวมรกต) แซปไฟร์สีน้ำเงิน (ไพลิน) แซปไฟร์สีส้มอมชมพู (แพดพาแรดชา) เป็นต้น สีต่างๆ ของแซปไฟร์เกิดจากธาตุชนิดต่างๆ สีน้ำเงินของไพลิน เกิดจากธาตุเหล็ก และไททาเนียม สีของไพลิน ที่ถือว่าสวยงาม ที่สุดคือ สีน้ำเงินเข้มสด และมีสีม่วงอมเล็กน้อย มีความมืดสว่างปานกลาง ไพลินจัดเป็น แซปไฟร์ ที่ได้รับความนิยมมาก ทำให้ค่อนข้างมีราคาสูง รองลงมาเป็นบุษราคัม เขียวส่อง ส่วนชนิดแซปไฟร์สีอื่นๆ จัดเป็นรัตนชาติสำหรับการสะสมก็ว่าได้ แต่ก็หาไม่ได้ง่ายนัก และอาจมีราคาแพงได้เช่นกัน เช่น แพดพาแรดชา แซปไฟร์ สีม่วง สีชมพู เป็นต้น
การพิจารณาเลือกซื้อไพลิน
1.สีเป็นสิ่งสำคัญ ไพลินที่มีสีสวยที่สุดคือ สีน้ำเงินอมม่วง เล็กน้อย โทนสีไม่มืดมาก ปานกลาง มีเนื้อกำมะหยี่ มีความสุกใส มีประกายแวววาวดี ควรดูความสม่ำเสมอของสีด้วย สีที่ไม่สม่ำเสมอในเนื้อพลอย จะทำให้ราคาตกลง ไพลิน ที่มีโทนสีมืด สีมีความเข้มมากเกินไปจนมองดูดำมืด และไพลินที่มีโทนสีสว่างอ่อนเกินไป จะสวยน้อย และมีราคาไม่แพง ดังนั้น ถ้ามีเงินไม่มากนัก ควรเลือกไพลินโทนสี ค่อนข้างสว่าง ความเข้มของสีกำลังดี เพราะราคาจะถูกลง แถมยังทำให้มองดูสวย ภายใต้แสงไฟ เนื่องจากมีความสุกใสกว่าไพลินที่มีโทนสีมืดคล้ำ แต่อย่าเลือกไพลิน โทนสีสว่างโล่งเกินไป หรือความเข้มของสีน้อยเกินไป เพราะจะมองดูไม่สวยสง่า เหมือนไพลินที่มีความเข้มของสีมากกว่า กล่าวคือให้มีความเข้มของสีน้ำเงินอยู่ และมีโทนสีสว่างบ้าง มิใช่เป็นสีน้ำเงินอ่อน จนเป็นสีฟ้า แถมมีโทนสีสว่างด้วย
2.มลทิน ตำหนิ ไพลินที่มีมลทินอยู่ภายในเนื้อ เป็นข้อบ่งชี้ว่าเป็นของธรรมชาติ แต่ต้องดูแยกให้ออก ว่าเป็นมลทินธรรมชาติ หรือมลทินสังเคราะห์ (ทำขึ้น) การดูมลทิน มักจะต้องใช้แว่นขยาย 10 เท่าขึ้นไป หรือกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งผู้ชำนาญเท่านั้น จึงจะสามารถแยกออกจากกันได้ ว่าเป็นมลทิน ธรรมชาติ หรือมลทินสังเคราะห์ ไพลินธรรมชาติที่ใส สะอาดไร้มลทิน จะหาได้ยากมาก
3.การเจียระไน เจียระไนโดยให้โต๊ะหน้าพลอย วางตัวในทิศทาง ที่จะให้สีน้ำเงินอมม่วง หรือน้ำเงิน ไม่ใช่น้ำเงินอมเขียว รูปร่างของ หน้าพลอย ถ้าเป็นกลม ก็กลมสวย ไม่เบี้ยว ถ้าเป็นทรงไข่ก็ไข่สวย ไม่บิดเบี้ยว มีความสมมาตร มีขอบพลอยขนาดพอดี และมีขนาดก้นพลอย ไม่ยาว หรือสั้นจนเกินไป และฝีมือประณีตในการเจียระไน จะดูได้จาก ลักษณะเหลี่ยมคม ของแต่ละหน้านั้น มีความคมชัดเรียบสวยงาม ไม่แตก ขรุขระ แต่ละหน้าเหลี่ยมพลอย มีรูปร่างดี ไม่บิดเบี้ยวแตกต่างกัน ความสวยงาม ของไพลินจะลดน้อยลงมาก ถ้าขาดการเจียระไนที่ดี

มรกต
มรกต เป็นรัตนชาติอีกชนิดหนึ่ง ที่มีคุณค่าราคาสูง และหาได้ยาก เช่นเดียวกัน กับรัตนชาติ มีค่าสูงอื่น ๆ สีเขียวเข้มสด ของมรกต ยากที่จะหาสีเขียว ของรัตนชาติ อื่นใดเทียบได้ และจะเรียกว่าสีเขียวมรกต มรกตอาจมีความมืด - สว่าง แตกต่างกันไป แต่ไม่ควรมี สีเขียวอ่อน ถ้ามรกตมีสีเขียวอ่อน ก็ไม่ควรจะเรียกว่ามรกต ชนิดที่มีสีเขียวอ่อนนั้น สีเกิดจากธาตุเหล็ก แต่สีเขียวที่เข้มสด ของมรกตเกิดจาก ธาตุโครเมียม หรือวาเนเดียม หรือจากทั้งสองธาตุอยู่ในโครงสร้างของผลึก มรกต คุณภาพดี ชนิดที่มีสีเขียวเข้มสวยสด ไม่มีสีเหลือง หรือสีน้ำเงินปน และปราศจากตำหนิ มลทินใด ๆ อาจจะมีราคาสูงถึงหลายหมื่นบาทต่อกะรัต อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามรกต จะมีคุณภาพดี สีสวยเท่าใด มักจะมีตำหนิมลทินเกิดอยู่ในเนื้อเสมอ ซึ่งเป็นลักษณะ ตามธรรมชาติของมรกต ตำหนิมลทินต่าง ๆ อาจจะมีมากหรือน้อย มองเห็นได้ยาก หรือง่ายก็ได้ และมรกตมักจะมีความเปราะ แตกหักได้ง่าย ไม่คงทนต่อแรงกระเทก ความร้อน หรือสารเคมีต่าง ๆดังนั้น จะต้องระมัดระวังรักษา ดูแลเป็นพิเศษ มรกตเป็นแร่ที่อยู่ในกลุ่มแร่เบริล แต่มีลักษณะกำเนิด ที่แตกต่างจากแร่เบริลชนิดอื่น ๆ มรกต มักจะพบเกิดอยู่ในหินแปร ซึ่งจะมีบริเวณจำกัด ต่อการเกิดของผลึกแร่ จนมีผลต่อขนาด และความหายากของมรกต แต่แร่เบริลโดยทั่วไป มักจะพบเกิดอยู่ในสายแร่เพกมาไทด์ ซึ่งจะให้ผลึกแร่มี่มีขนาดใหญ่กว่า และมีปริมาณมากกว่า มรกต มักจะพบอยู่ในหินต้นกำเนิด หรือแหล่งแบบปฐมภูมิมากกว่า แหล่งแบบลานแร่สะสมตัว เนื่องจากมรกตมีความเปราะนั่นเอง จึงมักจะถูกทำลาย ได้ง่าย ก่อนที่จะถูกพัดพา ไปสะสมตัวในแหล่งไกล ๆ

การพิจารณาเลือกซื้อมรกต
1.สี เป็นหลักสำคัญ เหมือนพลอยชนิดอื่น สีที่ว่ากันว่า เป็นยอดคือ สีเขียวเข้มปานกลาง ถึงเขียวเข้มสดใสบริสุทธิ์ มีเหลือบเหลือง หรือน้ำเงิน เพียงเล็กน้อย และมีประกายที่ดูเหมือน มีความอ่อนนุ่มนวล เหมือนกำมะหยี่ และถ้าสี มีการกระจาย ราบเรียบ เสมอตลอดเม็ด มีมลทินน้อยมาก ก็จัดเป็น ยอดมรกตเลยทีเดียว แต่ที่กล่าวมานี้ หาได้ยากยิ่งกว่ายากเสียอีก ถ้ามี แล้วละก็ อาจจะมีราคาแพงกว่าเพชร ในชั้นคุณภาพ และขนาดเดียวกัน ลักษณะสีที่เขียวสดใส และมีประกายอ่อนนุ่ม เหมือนกำมะหยี่ ของมรกต ชั้นดี จะเพิ่มคุณค่า และราคาให้มรกตนั้นมากมาย ต่างกับรัตนชาติอื่น ที่ถึงแม้จะมีสีเขียว และมีความอ่อนนุ่มเช่นกัน ราคาของมันก็ไม่เพิ่ม ได้มากมาย เหมือนมรกต
2.ความโปร่ง ความเป็นประกายสว่างสุกใสของมรกต โดยทั่วไป จะมีน้อย เมื่อเปรียบกับ รัตนชาติชนิดอื่น ๆ เช่น เพชร ทับทิม ไพลิน แต่ถ้ามรกตมีความโปร่งใสมากขึ้น ย่อมส่ง ผลให้ความมีประกายสดใสมีมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ดูมีสีสันมีชีวิตชีวามากขึ้น พวกที่มีความ โปร่งใสน้อย หรือโปร่งแสงจะทำให้สีดูทึมทึบ แต่ถ้าต้องเลือกเอาระหว่างสีที่ดี กับความ โปร่งสูง ควรจะเลือกเอาสีที่ดีไว้ก่อน
3.มลทิน ตำหนิ โดยทั่วไปแล้ว มรกตมักจะมีตำหนิ และมลทินอยู่เสมอไม่มากก็น้อย ซึ่งเป็นสิ่งที่ธรรมชาติสร้างมาให้ โดยเฉพาะกับมรกต มีมากกว่าทับทิม และไพลินเสียอีก ดังนั้นมรกตชั้นดีสีสวยไร้มลทินจะหายากมาก ซึ่งราคาจะสูง ตามความหายาก การเลือกดู มรกตสีสวยควรจะพิจารณาดูมลทินต่าง ๆ ซึ่งจะมีมากด้วยโดยดูว่ามลทินเหล่านั้น จะมีผลกระทบต่อความคงทน หรือความสวยงามของมรกตสีสวยที่ถูกใจนั้นหรือไม
4.การเจียระไน จัดเป็นสิ่งสำคัญในการเลือกซื้อเช่นกัน การเจียระไนเหลี่ยมมรกต ค่อนข้างจะทำได้ยาก ที่จะให้มีสัดส่วน สวยงาม สมดุล ซึ่งจะมีผลส่งให้มรกต มีประกาย สวยสดงดงาม ดังนั้น ควรจะพิจารณาอย่างละเอียด ดูความสมดุล สมบูรณ์ของหน้าเหลี่ยม เจียระไนต่าง ๆ ว่ามีความพอดี ลึก ตื้น สั้น ยาว เพียงใด ให้สีประกายออกมามากเท่าใด

หยก
หยก จัดเป็นรัตนชาติที่มีราคาสูงเช่นกัน ในทางการค้าโดยทั่วไป มักจะเรียกรัตนชาติ ที่มีสีเขียวว่า หยก แต่ที่จัดว่าเป็นหยกจริง มีคุณภาพราคาสูงคือ หยกชนิดเจไดต์ (Jadeite) และหยกชนิดเนไฟรต์ (Nephrite) ซึ่งมีราคาไม่แพง และมีสี ไม่เหมือนกับหยกชนิดเจไดต์ ส่วนแร่อื่นๆ เช่น ควอรตซ์สีเขียว แก้วสีเขียว เป็นต้น จะไม่เรียกว่าหยก ดังนั้น หยก ควรจะหมายถึงแร่เจไดต์ และเนไฟรต์เท่านั้น รัตนชาติสีเขียวอื่นๆ ที่เรียกว่าหยกนั้น ถือว่าเป็นการเรียกชื่อที่ไม่ถูกต้อง (misnomer) ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะ หยกเจไดต์ ซึ่งเป็นที่นิยม มีคุณภาพ และมีราคา แพงกว่าหยกเนไฟรต

การพิจารณาเลือกซื้อหยก
1.สี สำหรับในพวกที่มีสีเขียวต่างๆ ที่จัดว่าคุณภาพดี เช่น เขียวมรกต เขียวแอปเบิ้ล เขียวอมเหลือง เขียวอมเทา เป็นต้น ความเข้มของสี ควรจะมีระดับปานกลาง หรือกึ่งเข้ม ไม่จาง หรือมืดเกินไป หรือด้านหม่นหมอง ควรมีความกลมกลืน กระจายสม่ำเสมอ สีราบเรียบ ตลอดทั่วเนื้อหยก ไม่มีจุดรอยด่างของสี เป็นบริเวณ ส่วนหยกสีอื่นๆ ก็พิจารณา ทำนองเดียวกัน เรื่องของสี จัดเป็นข้อพิจารณาสำคัญในการเลือกซื้อ ต่อรองราคา กำหนด ราคาหยก
2.ความโปร่ง เนื้อหยก ที่มีความโปร่ง เป็นที่นิยม ได้แก่ โปร่งแสง กึ่งโปร่งแสง โปร่งใส ซึ่งเป็นการพิจารณา เกี่ยวกับการที่สามารถ มองเห็นเนื้อในหยกได้ชัดเจน มากน้อยเพียงใด ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความสามารถ ในการที่แสง จะสามารถส่องทะลุผ่านได้มากน้อย เท่าใดนั่นเอง ควรเลือกซื้อหยก ที่มีความโปร่งมากกว่า ในกรณีที่หยกมีสีเดียวกันเหมือนกัน แต่สำหรับหยก ที่มีสีสดสวย แต่ไม่ค่อยโปร่ง กับหยกที่มีความโปร่งสูง แต่มีสีไม่ค่อยสวย เราควรเลือกซื้อ หยกชนิดที่มีสีสวยกว่า
3.เนื้อแร่ หมายถึง ความละเอียด หรือความหยาบของแร่ ที่เกาะประสานกัน ในเนื้อหยก ควรจะเลือกหยก ที่มีเนื้อแร่ละเอียด มากกว่า เพราะจะมีความโปร่งมากกว่า หยกที่มีเนื้อแร่หยาบ ลักษณะเนื้อแร่ กับความโปร่ง มักจะไปด้วยกัน กล่าวคือ หยกที่มีเนื้อแร่ผลึกเล็กละเอียด ประสานกันแน่น มักจะทำให้เกิดมีความโปร่งมาก หยกที่มีเนื้อแร่ผลึกใหญ่ หยาบ มีการประสานไม่ค่อยดี ก็มักจะไม่ค่อยโปร่งเป็นต้น
4.ความวาว เลือกหยกที่มีความวาว เหมือนไข เหมือนน้ำมัน มีความนุ่มนวล เหมือนปุยนุ่น ซึ่งเป็นลักษณะโดยทั่วไป ของหยกเนื้อละเอียด มีความโปร่ง ถ้าพบหยกที่มีความวาวเหมือนแก้วก็จะยิ่งดี เพราะหมายถึงหยกคุณภาพดี เนื้อละเอียด มีความโปร่งสูง (ค่อนข้างหายาก)
5.ตำหนิ มลทิน ไม่ควรเลือกซื้อหยก ที่มีตำหนิต่างๆ เช่น ลักษณะรอยแตก รอยขูดร้าว รอยปะ รอยขีดข่วนต่างๆ ลักษณะจุดสี หย่อมสี รอยด่างของสี (ขาว หรือดำ) เป็นต้น กล่าวคือ เลือกหยกที่มีตำหนิดังกล่าวน้อยที่สุด ขนาดเล็กที่สุด นั่นเอง หยกที่ตำหนิมลทินต่างๆ มาก จะทำให้ความสวยงามลดลงเช่นกัน
6.การเจียระไน ค วรพิจารณาดูความกลมกลืน ความสมบูรณ์ของรูปแบบ สัดส่วน ความสมดุล ความมีเอกภาพของรูปแบบ ซึ่งอาจจะขึ้นกับรสนิยมทางศิลปะของแต่ละคน แต่ละยุคสมัยด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น